ผู้ปกครองเกาหลีเหนือ ของ คิม จ็อง-อิล

อนุสาวรีย์ท่านผู้นำ คิม จ็อง-อิล

วันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1994 บิดาของคิม จ็อง-อิล คิม อิล-ซ็องถึงแก่อสัญกรรม ด้วยวัย 82 ปีจากอาการโรคหัวใจกำเริบ คิม จ็อง-อิลได้รับหน้าที่เป็นผู้นำในการจัดงานพิธีศพให้แก่บิดาของตน และปรับปรุงบูรณะวังสุริยะคึมซูซัน (Kumsusan Palace of the Sun) ให้เป็นที่พำนักสุดท้ายของคิม อิล-ซ็องผู้เป็นบิดา อย่างไรก็ดี คิม จ็อง-อิลใช้เวลาสามปีในการรวมอำนาจ เขารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคแรงงานเกาหลีอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1997 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ถือว่าเป็นผู้นำสูงสุดโดยปริยายของเกาหลีเหนือในขณะนั้น แต่ทว่าคิม จ็อง-อิล นั้นไม่ได้สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากคิม อิล-ซ็อง ผู้เป็นบิดา การแก้ไขรัฐธรมนูญในค.ศ. 1998 โดยสภาประชาชนสูงสุด (Supreme People's Assembly) อันเป็นองค์กรนิติบัญญัติได้ยกเลิกตำแหน่งประธานาธิบดีออกจากรัฐธรรมนูญ และยกย่องอดีตประธนานาธิบดีคิม อิล-ซ็อง ให้เป็น "ประธานาธิบดีตลอดกาล" (Eternal President) ของสาธารณรัฐ อย่างไรก็ดี อาจแย้งได้ว่าเขาได้เป็นประมุขของประเทศเมื่อเขาเป็นผู้นำพรรคแรงงาน ในประเทศคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่ ผู้นำพรรคเป็นบุคคลผู้ทรงอำนาจที่สุดในประเทศอย่างเป็นทางการ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญค.ศ. 1998 ได้แบ่งอำนาจของประธานาธิบดีออกเป็นสามส่วน ประกอบกันเป็นสามเส้าของผู้นำฝ่ายบริหารของรัฐบาลเกาหลีเหนือ ได้แก่ ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันประเทศ (Chairman of National Defence Commission) คือ นายคิม จ็อง-อิลเอง นายกรัฐมนตรี คือ นายชเว ยอง-ริม (เกาหลี: 최영림) และประธานรัฐสภา คิม ยอง-นัม (เกาหลี: 김영남) แต่ละคนถืออำนาจในนามเทียบเท่ากับหนึ่งในสามของอำนาจประธานาธิบดีในระบบประธานาธิบดีในประเทศส่วนใหญ่ คิม จ็อง-อิลเป็นผู้บัญชาการกองทัพ ชเว ยอง-ริมเป็นผู้นำรัฐบาล และคิม ยอง-นัมจัดการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี ในทางพฤตินัย คิม จ็อง-อิลดำเนินการควบคุมเด็ดขาดเหนือรัฐบาลและประเทศ แม้คิมจะไม่จำเป็นต้องเข้ารับการเลือกตั้งเพื่อรักษาตำแหน่ง เขาได้รับเลือกอย่างเป็นเอกฉันท์ไปทำหน้าที่ในสภาประชาชนสูงสุดทุกห้าปี โดยเป็นผู้แทนเขตเลือกตั้งทหาร เนื่องจากหน้าที่ปัจจุบันในฐานะผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพประชาชนเกาหลีและประธานคณะกรรมาธิการป้องกันประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี

นโยบายเศรษฐกิจและการทหาร

เศรษฐกิจเกาหลีเหนือที่รัฐควบคุมประสบความยุ่งยากตลอดคริสต์ทศวรรษ 1990 อันเนื่องมาจากการบริหารจัดการผิด และนโยบายจูเช (เกาหลี: 주체) ของประธานาธิบดี คิม อิล-ซ็อง ผู้เป็นบิดา อันเป็นนโยบายพึ่งพาตนเองโดยสมบูรณ์แบบ ตัดขาดการติดต่อจากโลกภายนอกทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง เมื่อการผลิตทางเกษตรกรรมประสบความล้มเหลวอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ ประกอบกับการบริหารจัดการที่ดินที่ไม่ดี[27][28][29] จากเหตุนี้ ประกอบกับที่ดินที่สามารถเพาะปลูกได้เพียง 18%[30] และการไม่สามารถนำเข้าสินค้าจำเป็นต่อการบำรุงอุตสาหกรรม[31] ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนักในเกาหลีเหนือ นำไปสู่ทุพภิกขภัยเกาหลีเหนือ (North Korean Famine) ในช่วงค.ศ. 1994 ถึง ค.ศ. 1998 มีชาวเกาหลีเหนือเสียชีวิตจากความอดอยากร่วมกว่า 240,000 ถึง 3,500,000 คน คิม จ็อง-อิล เข้าดำรงตำแหน่งผู้นำของเกาหลีเหนือในค.ศ. 1994 ต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจและความอดอยาก รัฐบาลเกาหลีเหนือแก้ไขปัญหาอย่างขาดประสิทธิภาพ โดยการสร้างระบบกระจายอาหารสาธารณะ (Public Distribution System) แบ่งอาหารให้ประชาชนในประเทศด้วยอัตราที่ไม่เท่าเทียม ชนชั้นแรงงานอุตสาหกรรมมีอภิสิทธิ์ได้รับอาหารมากกว่าประชาชนธรรมดา คนชราและเด็ก จนกระทั่งเมื่อสหประชาชาติรับทราบถึงปัญหาทุกภิกขภัยของเกาหลีเหนือจึงมีการบริจาคอาหารเข้าช่วยเหลือประชาชนเกาหลีเหนือ มีแหล่งที่มาจากประเทศเกาหลีใต้ สาธารณรัฐประชาชนจีน และสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก

แม้ว่าประเทศและประชาชนจะประสบปัญหาขาดแคลนอย่างหนักในขณะนั้น ค.ศ. 1995 คิม จ็อง-อิล ได้ประกาศนโยบายซ็อนกุน (เกาหลี: 선군) หรือ"ทหารมาก่อน" (Military First) คือนโยบายการใช้ทรัพยากรไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีความก้าวหน้าทางการทหารเป็นอันดับแรก เพื่อเป็นการป้องกันประเทศเกาหลีเหนือจากการคุกคามของชาติตะวันตก[32] ในระดับชาติ นโยบายนี้ได้มีอัตราเติบโตเป็นบวกสำหรับประเทศตั้งแต่ ค.ศ. 1996 และการนำ "การปฏิบัติเศรษฐกิจตลาดหลักเขตประเภทสังคมนิยม" ใน ค.ศ. 2002 ยังประคับประคองให้เกาหลีเหนือไม่ล่มจมแม้ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านอาหารจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่องก็ตาม[33]

ในความตื่นตัวจากเศรษฐกิจเสียหายรุนแรงในคริสต์ทศวรรษ 1990 รัฐบาลเริ่มอนุมัติกิจกรรมการแลกเปลี่ยนและการค้าขนาดเล็กอย่างเป็นทางการ ดังที่แดเนียล สไนเดอร์ รองผู้อำนวยการการวิจัยที่ศูนย์วิจัยเอเชีย-แปซิฟิก มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด การดำเนินการอันเป็นทุนนิยมนี้ "ค่อนข้างจำกัด แต่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต ปัจจุบันมีตลาดที่น่าสังเกตซึ่งสร้างลักษณะคล้ายกันของระบบตลาดเสรี"[34] ใน ค.ศ. 2002 คิม จ็อง-อิลประกาศว่า "เงินควรสามารถวัดมูลค่าของโภคภัณฑ์ทั้งหมดได้"[35] ท่าทีต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือในสมัยของ คิม จ็อง-อิล มีลักษณะคล้ายกับการปฏิรูปเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนของเติ้ง เสี่ยวผิง ในปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 และต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 ระหว่างการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนใน ค.ศ. 2006 คิม จ็อง-อิลได้กล่าวแสดงความชื่นชมต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของจีน[36]

ลัทธิบูชาบุคคล

คิม จ็อง-อิลเป็นศูนย์กลางแห่งลัทธิบูชาบุคคลประณีตซึ่งรับต่อมาจากบิดาของเขาและผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี คิม อิลซอง ผู้แปรพักตร์ได้รับการอ้างคำพูดว่า โรงเรียนเกาหลีเหนือยกทั้งพ่อและลูกเหมือนเทพเจ้า[37] เขามักเป็นศูนย์กลางความสนใจตลอดชีวิตปกติในเกาหลีเหนือ ในวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 60 ปี (ตามวันเกิดอย่างเป็นทางการ) มีการเฉลิมฉลองจำนวนมากทั่วประเทศในโอกาสนี้[38] ชาวเกาหลีเหนือจำนวนมากเชื่อว่าเขามีความสามารถ "เวทมนตร์" ในการ "ควบคุมลมฟ้าอากาศ" ตามอารมณ์ของเขา[37] ใน ค.ศ. 2010 สื่อเกาหลีเหนือรายงานว่า เครื่องแต่งกายอันโดดเด่นของคิมได้เป็นกระแสแฟชั่นทั่วโลก[39]

มุมมองหนึ่งคือว่า ลัทธิบูชาบุคคลของคิม จ็อง-อิลนั้นเป็นเพราะความเคารพคิม อิลซองหรือความกลัวการถูกลงโทษที่ไม่แสดงความเคารพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น[40] สื่อและแหล่งข่าวรัฐบาลนอกประเทศมักสนับสนุนมุมมองนี้[41][42][43][44][45] ขณะที่แหล่งข่าวเกาหลีเหนือยืนยันว่าเป็นการบูชาวีรบุรุษอย่างแท้จริง[46] เพลง "ไม่มีมาตุภูมิหากไร้ซึ่งท่าน" ร้องโดยวงประสานเสียงของรัฐเกาหลีเหนือ เขียนขึ้นให้คิมโดยเฉพาะใน ค.ศ. 1992 และมักถ่ายทอดทางวิทยุบ่อยครั้งและจากเครื่องกระจายเสียงบนถนนแห่งเปียงยาง[47]

ความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้

ในสมัยการปกครองของคิม จ็อง-อิล ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเกาหลีสองประเทศพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมาก อันเนื่องมาจากกระประกาศใช้นโยบาย "ตะวันฉายแสง" (Sunshine Policy; เกาหลี: 햇볕정책) ของประธานาธิบดี คิม แดจุง แห่งเกาหลีใต้ในค.ศ. 1998 เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่าประเทศเกาหลีเหนือและใต้ โดยการรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่เกาหลีเหนือ และงดเว้นการเผชิญหน้าทางการทหารระหว่างสองประเทศ หรือความพยายามใดๆที่จะรวมปรเทศเกาหลีด้วยวิธีการทางทหาร ผู้นำทั้งสองประเทศได้แก่ นายคิม จ็อง-อิลแห่งเกาหลีเหนือ และคิม แด-จุง แห่งเกาหลีใต้ พบปะร่วมประชุมสัมมนาที่นครเปียงยางในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2000 เพื่อหารือความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อันเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์เกาหลี เนื่องจากในครั้งนั้นเป็นการพบปะกันครั้งแรกของผู้นำประเทศเกาหลีทั้งสองนับตั้งแต่สมัยสงครามเกาหลี แต่ทว่าการเจรจาไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรและนโยบายตะวันฉายแสงของนายคิมแดจุงได้รับการต่อต้านจากชาวเกาหลีใต้

รัฐบาลเกาหลีใต้ในสมัยต่อมาของประธานาธิบดี โน มู-ฮย็อน ได้พยายามที่จะสานต่อนโยบายตะวันฉายแสง โดยมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือเขตปกครองพิเศษขึ้นในเกาหลีเหนือสำหรับการลงทุนและการท่องเที่ยวของชาวเกาหลีใต้ ได้แก่ เขตท่องเที่ยวเขาคึมกัง (Mount Kŭmgang Tourist Region) จังหวัดคังวอน ก่อตั้งเมื่อค.ศ. 2002 ประธานาธิบดี โน มู-ฮย็อน อนุญาตให้บริษัทเกาหลีใต้เริ่มต้นการลงทุนในเกาหลีเหนือ คิม จ็อง-อิลประกาศแผนการนำเข้าและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่ยังด้อยพัฒนาของเกาหลีเหนือ ด้วยผลจากนโยบายใหม่นี้ เขตอุตสาหกรรมแคซอง (Kaesŏng Industrial Region) ถูกสร้างขึ้นใน ค.ศ. 2003 ที่เมืองแคซองห่างไปทางเหนือของเขตปลอดทหารเกาหลีไม่ไกลนัก โดยมีบริษัทเกาหลีใต้วางแผนเข้าร่วม 250 บริษัท และว่าจ้างชาวเกาหลีเหนือ 100,000 คน ภายใน ค.ศ. 2007[48] อย่างไรก็ดี จนถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 2007 เขตยังมีเพียง 21 บริษัท และว่าจ้างคนงานเกาหลีเหนือ 12,000 คน[49] จนถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2010 เขตได้ว่าจ้างชาวเกาหลีเหนือกว่า 40,000 คน[50] นอกจากนี้เกาหลียังได้ทดลองจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นในลักษณะเดียวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน ขึ้นที่เมืองชินอีจู (Sinŭiju Special Administrative Region) ที่พรมแดนติดกับประเทศจีน เพื่อดึงดูดการลงทุนจากประเทศจีน

แหล่งที่มา

WikiPedia: คิม จ็อง-อิล http://www.theage.com.au/news/North-Korea/North-Ko... http://usgovinfo.about.com/library/weekly/aankorea... http://www.atimes.com/atimes/Japan/FL16Dh02.html http://www.atimes.com/atimes/Korea/FB14Dg04.html http://www.atimes.com/atimes/Korea/GF04Dg03.html http://www.atimes.com/atimes/Korea/IA04Dg02.html http://nk.chosun.com/english/news/news.html?ACT=de... http://transcripts.cnn.com/TRANSCRIPTS/0607/05/i_i... http://www.country-studies.com/north-korea/agricul... http://www.csmonitor.com/2005/0602/p07s02-woap.htm...